โทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก แตกต่างจากฟรีทีวีอย่างไร
โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) มีคุณลักษณะไม่แตกต่างจากโทรทัศน์ระบบไม่บอกรับสมาชิก (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ฟรีทีวี” (Free TV หรือ Free-To-Air TV) ในด้านของสิ่งที่ผู้ชมได้รับโดยทั่วไป คือภาพและสียง แต่ความเป็นจริงนั้นยังมีความแตกต่างด้านอื่นๆ อีก ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ด้านสัญญาณ โทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกนั้น ผู้ชมที่เป็นสมาชิกสามารถรับสัญญาณได้หลายระบบ เช่น ระบบแอนะล็อก ระบบดิจิตัล การรับสัญญาณผ่านสายสัญญาณ และการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม แต่โทรทัศน์แบบฟรีทีวี เป็นการส่งสัญญาณภาคพื้นดิน (terrestrial) โดยมีเสาอากาศ (antenna) เป็นตัวรับสัญญาณคลื่นวิทยุ ซึ่งผู้ชมส่วนมากสามารถรับสัญญาณได้ในระบบแอนะล็อก เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณการส่งโทรทัศน์ภาคพื้นดินจากแอนะล็อกเป็นดิจิตัล (ในหลายประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์ทั้งหมดเป็นดิจิตัลแล้ว)
2. ด้านจำนวนช่องรายการผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกจะให้บริการเป็นจำนวนอย่างน้อยนับสิบช่องขึ้นไปถึงจำนวนนับร้อยช่อง ส่วนโทรทัศน์แบบฟรีทีวีนั้นผู้ประกอบกิจการส่วนใหญ่ดำเนินการเฉพาะช่องใดช่องหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกเป็นจำนวนมาก มีทั้งผู้ให้บริการระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ละรายก็มีจำนวนช่องรายการที่แตกต่างกัน และมีการบริหารจัดการรูปแบบสินค้าและการให้บริการที่แตกต่างกัน บริษัท ทรูวิชั่น (TrueVisions) ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกระดับชาติของประเทศไทยมีชุดรายการขั้นต่ำซึ่งมีรายการทั้งหมดจำนวน 39 ช่อง เรียกว่า ทรูไลฟ์ ฟรีวิว แพ็คเก็จ (TrueLife Freeview package) ส่วนชุดรายการขั้นสูงสุด ได้แก่ ทรูวิชั่นส์ แพลตินั่ม แพ็คเก็จ (True Platinum package) มีรายการทั้งหมดจำนวน 86 ช่อง (http://www.truevisionstv.com เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552) ส่วนโทรทัศน์แบบฟรีทีวีนั้น ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการอยู่เป็นจำนวน 6 ช่อง ได้แก่ ระบบ VHF (Very High Frequency) จำนวน 4 ช่อง คือ ช่อง 5, 7, 9, 11 และ ระบบ UHF (Ultra High Frequency) จำนวน 2 ช่อง คือ ช่อง 3 และทีวีไทย ช่อง 6
3. ด้านรูปแบบและการจัดรายการการให้บริการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกนั้น ส่วนมากจะแบ่งช่องตามประเภทของรายการ เช่น ช่องข่าว ช่องดนตรี ช่องภาพยนตร์ เป็นต้น และมีผังการจัดรายการที่วนซ้ำไปมา ทำให้ผู้ชมสามารถเลือกช่องที่ตรงกับความต้องการได้ง่าย และสามารถติดตามรายการที่พลาดชมได้ ส่วนโทรทัศน์แบบฟรีทีวีนั้น แต่ละช่องจะมีการออกอากาศรายการทุกประเภทผสมผสานกันไป โดยพิจารณาช่วงเวลาออกอากาศให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย นอกจากนั้น โทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกยังมีรายการตามสั่งที่ผู้ชมสามารถเลือกชมเพิ่มพิเศษได้โดยต้องจ่ายเงินเพิ่ม
4. ด้านกลุ่มเป้าหมาย
ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มักจะกำหนดกลุ่มผู้ชมรายการโดยคำนึงถึงลักษณะประชากร แต่กลุ่มผู้ชมรายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกโดยรวมจะมีลักษณะประชากรที่แตกต่างจากกลุ่มผู้ชมฟรีทีวี เนื่องจากผู้ชมต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนแลกกับช่องรายการที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าสมาชิกของโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกจะมีหลายขั้นหลายอัตรา เริ่มต้นด้วยหลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท แต่ความเป็นสมาชิก (subscribership) ก็เป็นปัจจัยที่บอกความแตกต่างด้านสังคมและเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มเป้าหมายของฟรีทีวีและของโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกได้
5. ด้านวัสดุอุปกรณ์ในการรับชมการรับชมรายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกไม่สามารถรับชมผ่านเสาอากาศทั่วไปที่ใช้ในการรับชมฟรีทีวีได้ ตามปกติแล้ว ผู้รับสัญญาณรายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกไม่ว่าจะเป็นเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมจะต้องมีกล่องรับสัญญาณที่เรียกว่า เซ็ท ท็อป บ๊อกซ์ (set top box) ซึ่งมีอุปกรณ์แปลงสัญญาณที่เรียกว่า Integrated Receiver Decoder (IRD) เพื่อสื่อสารกับผู้ให้บริการว่าจะเลือกชมรายการใดตามสถานภาพของความเป็นสมาชิก
6. ด้านค่าสมาชิกโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกนั้น ผู้ชมต้องสมัครเป็นสมาชิกกับบริษัทหรือหน่วยงานที่ให้บริการ โดยมีการจ่ายค่าสมาชิก (subscription fee) เป็นรายเดือนหรือรายปี หรือตามข้อตกลงระหว่างสมาชิกและผู้ให้บริการ ซึ่งการคิดค่าบริการของโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกมักแตกต่างกันตามชุด (package) หรือขั้น (tier) ของจำนวนช่องรายการที่ผู้ให้บริการกำหนด เช่น ชุดที่มีช่องรายการน้อยก็จะมีราคาถูกกว่าชุดที่มีรายการมาก และยังมีบริการพิเศษเสริมนอกเหนือจากชุดรายการด้วย ในขณะที่โทรทัศน์ระบบฟรีทีวีนั้น ผู้ชมสามารถรับสัญญาณผ่านอากาศ (คลื่นวิทยุ) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือสมัครเป็นสมาชิกแต่อย่างใด
7. ด้านการโฆษณา
แต่เดิมนั้นโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกในประเทศไทยไม่สามารถมีโฆษณาได้ เนื่องจากมีรายได้จากค่าสมาชิกอยู่แล้ว ในขณะที่โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถมีโฆษณาได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 28 กำหนดให้การประกอบกิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก สามารถโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละหกนาที โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาและการบริการธุรกิจ ตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละห้านาที ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ ผู้ชมรายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกในประเทศไทยคงจะได้ชมโฆษณาด้วย
8. ด้านการควบคุมเนื้อหา
โดยทั่วไปแล้วโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกในต่างประเทศมีกฎหมายหรือระเบียบในการควบคุมเนื้อหารายการน้อยกว่าฟรีทีวี เนื่องจากถือว่าไม่ใช่ช่องทางที่เด็กและเยาวชนจะเข้าถึงได้ง่ายเท่ากับฟรีทีวี และผู้รับบริการสามารถเลือกช่องที่ตนต้องการรับชมด้วยตนเอง ซึ่งบางครั้งเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถออกอากาศทางฟรีทีวีได้ สำหรับประเทศไทยนั้นขณะนี้เป็นช่วงระหว่างการปฏิรูปสื่อ ซึ่งกฎหมายและระเบียบต่างๆยังไม่มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ แต่จากร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมเนื้อหารายการมากนัก เว้นแต่ ข้อ 8 ที่ระบุถึงสัดส่วนรายการและผังรายการที่ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องดำเนินการเท่านั้น
I came to this blog and it helped me to add few new points to my knowledge. Actually, I am trying to learn new thing wherever I find. Impressive written blog and valuable information shared here.
ReplyDeleteใบอนุญาตโฆษณา