พัฒนาการของโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกในประเทศไทย
ความพยายามในการก่อตั้งโทรทัศน์ขึ้นในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2475 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เตรียมการทดลองส่งโทรทัศน์ แต่ยังไม่ทันดำเนินการก็เกิดการปฏิวัติขึ้น และหลังจากนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามสิ้นสุดลง จึงได้มีความพยายามในการก่อตั้งโทรทัศน์ขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ชื่อ “บริษัทไทยโทรทัศน์” เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกบนพื้นแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดำเนินกิจการแบบเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ก็มีกรมประชาสัมพันธ์เข้าไปดูแลจัดการ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ตั้งอยู่ในบริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม ทําการแพร่ภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498
เคเบิลทีวีได้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยชาวบ้านที่พยายามแก้ปัญหาการรับสัญญาณโทรทัศน์ที่ไม่ชัดเช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ดำเนินการเคเบิลรายแรกในประเทศไทยเป็นใครนั้นไม่ทราบ แต่ที่มีหลักฐานก็คือที่จังหวัดจันทบุรีในปี พ.ศ. 2523 โดยเริ่มจากการใช้เคเบิลทีวีช่วยรับสัญญาณฟรีทีวีให้ชัดเจนขึ้น และต่อมาการใช้มีการขยายตัวมากขึ้นโดยมีการเผยแพร่ภาพยนตร์จากวีดีโอไปตามสาย ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็มีผู้ประกอบการอีกหลายรายในชุมชนที่ไม่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ได้ชัดเจน เช่นในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน ซึ่งผู้ประกอบการสมัครเล่นเหล่านี้มักมีการแถมช่องภาพยนตร์จากวีดีโอให้ชมด้วย
ในยุคก่อนนั้น ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายมารองรับเรื่องเคเบิลทีวีโดยเฉพาะ รัฐปล่อยให้ชาวบ้านทำไปตามยถากรรม ผู้ประกอบการในยุคนั้นจึงถูกกล่าวหาว่าเถื่อนหรือว่าทำผิดกฎหมายไปโดยปริยาย กิจการเคเบิลทีวีในประเทศไทยที่ถือว่าเป็นทางการจริงๆนั้น ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดย IBC (International Broadcasting Corporation) เป็นผู้ให้บริการโดยได้รับสัมปทานจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) มีการแพร่ภาพโดยใช้ระบบ MMDS (Multipoint Multichannel Distribution System) ซึ่งต่อมามีผู้ประกอบการหลักๆในกรุงเทพอยู่สามรายด้วยกัน คือ IBC UTV และ Thai Sky TV ในที่สุด Thai Sky TV ต้องเลิกกิจการพร้อมหนี้สินจำนวนมาก ขณะที่ IBC ต้องควบกิจการกับ UTV จนกลายเป็น UBC (United Broadcasting Corporation) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 เนื่องจากความจำเป็นในการอยู่รอดทางธุรกิจ (พนา ทองมีอาคม เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552)
ปัจจุบันกลุ่ม UBC ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ทรูวิชั่นส์” (TrueVisions) เป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยการให้บริการผ่านการส่งสัญญาณระบบดิจิตัลผ่านดาวเทียมและระบบเคเบิลผ่านโครงข่ายผสมระหว่างเคเบิลใยแก้วนำแสง (optical fiber) และเคเบิลโคแอ๊กซ์ (coaxial cable) ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2551 ทรูวิชั่นส์มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 659,227 ราย (TrueVisions เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552)
นอกจากทรูวิชั่นส์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกระดับชาติเพียงรายเดียวแล้ว ประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก เคเบิลทีวีท้องถิ่น คือ การให้บริการเคเบิลทีวีในท้องถิ่นนั้นโดยใช้สายเคเบิลส่งสัญญาณภาพเข้าตรงถึงบ้านผู้ชม เคเบิลทีวีท้องถิ่น เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีข้อจำกัดเรื่องการหาประโยชน์ทางธุรกิจ มีรายได้จากการขายสมาชิก ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นแถบชานเมือง หรือไม่ก็เป็นในตัวเมืองตามต่างจังหวัด เพราะเคเบิลทีวีนั้นให้ภาพคมชัดกว่าการใช้เสาอากาศ และมีรายการให้ดูมากมาย ด้วยราคาที่ไม่แพงเกินไป ด้วยอัตราค่าบริการตั้งแต่ 250 บาท สำหรับเมืองเล็กๆ หรืออำเภอเล็กๆ มีรายการต่างๆจำนวนช่อง 40 ช่อง ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ มี 2 ราคาคือ 350 บาท และ 450 บาท โดยมีช่องให้บริการ 60 และ 80 ช่อง ตามลำดับ เนื้อหารายการนำเสนอทั้งภาพยนตร์ การ์ตูน วาไรตี้ เพลง กีฬา และ ข่าว เป็นรายการจากต่างประเทศและผลิตในประเทศ
จะเห็นได้ว่าโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีจุดกำเนิดและวิวัฒนาการคล้ายๆกัน คือเริ่มจากการเป็นสื่อชุนชนที่ส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิล มีบทบาทในการช่วยให้สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าถึงรายการโทรทัศน์ฟรีทีวีได้มากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการให้บริการรายการอื่นๆมากขึ้น เช่น ภาพยนตร์ และรายการจากต่างประเทศ โทรทัศน์ที่เรียกกันว่าเคเบิลทีวีนั้นก็มีการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมด้วยทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ดังนั้นความหมายของเคเบิลทีวีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย บางครั้งจึงหมายถึงโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกทั้งระบบผ่านเคเบิลและผ่านดาวเทียม
No comments:
Post a Comment