Monday, March 8, 2010

ความหมาย และองค์ประกอบของการสื่อสาร

พจนานุกรมออนไลน์เมอเรียม-เว็บสเตอร์ (Merriam – Webster Online Dictionary) นิยามว่า การสื่อสาร หมายถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบุคคล โดยผ่านระบบสัญลักษณ์ สัญญาณ หรือพฤติกรรมที่เข้าใจกัน (www.m-w.com, เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553)

เดนนิส แมคเควล (McQuail, 2005) กล่าวว่า การสื่อสารหมายถึงการให้และการรับความหมาย การถ่ายทอดและการรับสาร ซึ่งรวมถึงแนวคิดของการโต้ตอบ แบ่งปัน และมีปฏิสัมพันธ์กันด้วย

ดังนั้น คำว่า “การสื่อสาร” จึงมีความหมายที่กว้างขวางและเลื่อนไหลได้ จึงออกจะเป็นการยากที่จะกำหนดคำนิยามถึง “การสื่อสาร” โดยให้เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนิยามเชิงปฏิบัติการ (working definition) ที่นักวิชาการด้านการสื่อสารทั้งหลายใช้กันมากคือ “การสื่อสารคือการส่ง (transmitting) ข้อมูล (information) จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง” ซึ่งเป็นนิยามที่ทำให้มองเห็นภาพง่ายๆของการสื่อสารได้

ภาพที่ 1: การสื่อสารทางเดียว


องค์ประกอบของการสื่อสาร

การสื่อสารต้องประกอบด้วยผู้ส่งสาร (sender) และผู้รับสาร (receiver) เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีบุคคลหรือกลุ่มคนที่ผู้ส่งสารตั้งใจส่งสารไปถึง (intended receiver) แต่การสื่อสารยังต้องมีองค์ประกอบนอกเหนือจากผู้ส่งสารและผู้รับสาร นั่นคือตัวกลางที่เข้ามาช่วยอธิบายให้กระบวนการสื่อสารมีความสมบูรณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้น การสื่อสารโดยทั่วไปจึงประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ ดังนี้

1. ผู้ส่งสาร (Sender) หรือผู้สื่อสาร(Communicator) หรือแหล่งสาร (Source) เป็นแหล่ง หรือต้นทางหรือผู้ที่นำเรื่องราวข่าวสาร ความรู้ ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อส่งไปยังผู้รับซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มชนก็ได้ ผู้ส่งนี้จะเป็นบุคคลเพียงคนเดียว กลุ่มบุคคลหรือสถาบันต่าง ๆ ก็ได้


2. เนื้อหา (Message) ได้แก่ เรื่องราวที่ส่งออกมาจากผู้ส่งสาร เช่น ข่าวสารความรู้ ความคิดเห็น บทเพลง ภาพ ฯลฯ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลเหล่านี้

3. สื่อหรือช่องทางในการนำสาร (Medium or Channel) หมายถึง ตัวกลางที่ช่วยถ่ายทอดข้อมูลและเหตุการณ์ต่าง ๆ จากผู้ส่งสารไปยังผู้รับ เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์

4. ผู้รับสารหรือกลุ่มเป้าหมาย (Receiver or Target Audience) ได้แก่ ผู้รับเนื้อหาเรื่องราวจากแหล่งหรือจากการที่ผู้ส่งสารส่งมา ผู้รับสารอาจเป็นบุคคล กลุ่มชน หรือสถาบันก็ได้

5. ปฏิกิริยาสนองกลับ (Feedback) เมื่อผู้ส่งสารส่งข้อมูลไปยังผู้รับสาร ผลที่เกิดขึ้นคือ การที่ผู้รับอาจมีความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ยอมรับหรือปฏิเสธ พอใจหรือไม่พอใจ ฯลฯ และเมื่อเกิดผลกระทบทางใดทางหนึ่งขึ้น ก็จะทำให้ผู้รับสารส่งข้อมูลกลับมายังผู้ส่งสาร ซึ่งอาจเป็นคำพูดโต้ตอบ หรือการแสดงความคิดเห็น หรือการใช้ท่าทาง เช่น แสดงอาการง่วงนอน ปรบมือ ยิ้ม พยักหน้า เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้ส่งสารทราบว่า ผู้รับสารมีความพอใจหรือมีความเข้าใจในความหมายของข้อมูลที่ส่งไปหรือไม่

ในการสื่อสารแต่ละครั้ง อาจมีองค์ประกอบน้อยกว่าหรือมากกว่า 5 ประการตามที่กล่าวข้างต้น แล้วแต่บริบทของการสื่อสาร ซึ่งอาจเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียว (ภาพที่ 1) หรือการสื่อสารสองทาง (ภาพที่ 2) แต่ก็ยังทำให้การสื่อสารนั้นสำเร็จและสมบูรณ์ได้


ภาพที่ 2: การสื่อสารสองทาง




No comments:

Post a Comment