Monday, March 8, 2010

แบบจำลองการสื่อสาร

แบบจำลองการสื่อสารเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการและองค์ประกอบของการสื่อสาร แบบจำลองของการสื่อสารที่มีการอ้างถึงอย่างแพร่หลายในการศึกษาด้านการสื่อสารมีหลายรูปแบบตามการศึกษาของนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงในอดีต แบบจำลองแต่ละแบบมีความคล้ายคลึงกัน แต่อาจมีความซับซ้อนที่แตกต่างกันบ้างตามลักษณะของการสื่อสารแต่ละประเภท และมุมมองของนักวิชาการแต่ละท่าน แบบจำลองของการสื่อสารที่แพร่หลายในแวดวงการสื่อสารมีดังนี้

1. แบบจำลองการสื่อสารของแฮโรลด์ ลาสเวล

หลักการ (maxim) ของแฮโรลด์ ลาสเวล (Harold Lasswel, 1953) ระบุว่า ในการศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารนั้น ควรมีการพิจารณาองค์ประกอบ (elements) ที่สามารถตอบคำถามให้ได้ครบถ้วนว่า “ใครกล่าวอะไรแก่ใครในช่องทางใดด้วยผลกระทบอะไร” (who says what to whom in what channel with what effect) ซึ่งนับว่าเป็นหลักที่ใช้อธิบายองค์ประกอบของการสื่อสารได้แบบชัดเจนและตรงไปตรงมา

ภาพที่ 1: แบบจำลองการสื่อสารของลาสเวล
จากภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่า แบบจำลองของลาสเวลเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว ซึ่งต่อมาก็ได้มีผู้นำไปปรับปรุงและพัฒนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


2. แบบจำลองการสื่อสารของ เดวิด เบอร์โล

เดวิด เบอร์โล (David Berlo, 1960) นำเสนอว่า กระบวนการสื่อสารมีองค์ประกอบอยู่ 4 ประการ ได้แก่ ผู้ส่งสาร (source) ข่าวสาร (message) ช่องทางการสื่อสาร(channel) และ ผู้รับสาร (receiver) โดยแต่ละองค์ประกอบต่างทำหน้าที่ดังนี้
     1. ผู้ส่งสาร ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถเข้ารหัสเนื้อหาข่าวสารได้มีความรู้อย่างดีในข้อมูลที่จะส่ง  
         และสามารถปรับระดับของเนื้อหาข่าวสารให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผู้รับสาร
     2. ข่าวสาร คือเนื้อหา สัญลักษณ์ และวิธีการส่ง
     3. ช่องทางการสื่อสาร ในที่นี้หมายถึงช่องทางที่ผู้รับสามารถรับสารได้ด้วยประสาทสัมผัส ทั้ง 5 คือ
         ตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัส
     4. ผู้รับสาร ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการถอดรหัสสารที่รับมาได้อย่างถูกต้อง

ภาพที่ 2: แบบจำลองการสื่อสารของเบอร์โล




ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/86/Smcr.jpg

จากภาพที่ 2 จะเห็นว่า ในแบบจำลอง SMCR นี้ เบอร์โลได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลทำให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จ โดยเน้นส่วนของผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยคำนึงถึง ทักษะในการสื่อสาร ทัศนคติ ระดับความรู้ ระบบสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งผู้รับและผู้ส่งต้องมีตรงกันก็จะทำให้การสื่อสารนั้นมีประสิทธิภาพ ในส่วนของเนื้อหาสาร ต้องมีองค์ประกอบของเนื้อหา วิธีการ โครงสร้างและรหัสที่อยู่ในสาร ซึ่งถ้าเนื้อหาซับซ้อนเกินไป ผู้รับสารอาจไม่เข้าใจ ส่วนช่องทางในการสื่อสารของแบบจำลอง SMCR นี้เน้นไปที่ประสาทสัมผัสทั้งห้ามากกว่าที่จะกล่าวถึงสื่อ


3. แบบจำลองการสื่อสารของแชนนอนและวีฟเวอร์


แชนนอนและวีฟเวอร์ (Shannon and Weaver, 1949) เสนอกระบวนการสื่อสารที่เป็นเส้นตรง โดยเริ่มจากผู้ส่งซึ่งเป็นแหล่งข้อมูล (source) ทำหน้าที่ส่งเนื้อหาข่าวสาร (message) เพื่อส่งไปยังผู้รับ โดยผ่านทางเครื่องส่งหรือตัวถ่ายทอด (transmitter) ในลักษณะของสัญญาณ (signal) ที่ถูกส่งไปในช่องทาง(channel) ต่าง ๆ กันแล้วแต่ลักษณะของการส่งสัญญาณแต่ละประเภท เมื่อทางฝ่ายผู้รับได้รับสัญญาณแล้ว สัญญาณที่ได้รับ (received signal) จะถูกปรับให้เหมาะสมกับเครื่องรับหรือการรับเพื่อทำการแปลสัญญาณให้เป็นเนื้อหาข่าวสารนั้นอีกครั้งหนึ่งให้ตรงกับที่ผู้ส่งส่งมา ในขั้นนี้เนื้อหาที่รับจะไปถึงจุดหมายปลายทางคือผู้รับตามที่ต้องการ แต่ในบางครั้งสัญญาณที่ส่งไปอาจถูกรบกวนหรืออาจมีบางสิ่งบางอย่างมาขัดขวางสัญญาณ (noise) นั้น ทำให้สัญญาณที่ส่งไปกับสัญญาณที่ได้รับมีความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้เนื้อหาข่าวสารที่ส่งจากแหล่งข้อมูลไปยังจุดหมายปลายทางอาจจะผิดกันไป นับเป็นความล้มเหลวของการสื่อสารเนื่องจากข้อมูลที่ส่งไปกับข้อมูลที่ได้รับไม่ตรงกัน อันจะทำให้เกิดการแปลความหมายผิดหรือความเข้าใจในการสื่อสารกันเกิดความคลาดเคลื่อนได้

ภาพที่ 3: แบบจำลองการสื่อสารของแชนนอนและวีฟเวอร์

ตามแบบจำลองของแชนนอนและวีฟเวอร์ในภาพที่ 3 จะเห็นว่าแบบจำลองนี้ยังเป็นการสื่อสารเชิงเส้นตรง และเป็นการสื่อสารทางเดียว แชนนอนและวีฟเวอร์ให้ความสำคัญกับ “สิ่งรบกวน” (noise) ด้วย เพราะในการสื่อสารหากมีสิ่งรบกวนเกิดขึ้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารได้ เช่น ในการส่งวิทยุระบบ AM สัญญาณจะถูกรบกวนโดยไฟฟ้าในบรรยากาศ หรือการส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เมื่อเกิดฝนตกก็มีผลไปรบกวนสัญญาณทำให้รับภาพไม่ได้ หรือรับภาพได้ไม่ชัดเจน

4. แบบจำลองการสื่อสารของออสกูดและชแรมม์

วิลเบอร์ ชแรมม์ (Wilber Schramm, 1954) กล่าวว่า กระบวนการสื่อสารอาจไม่ได้เริ่มต้นและสิ้นสุด ณ ที่ใดที่หนึ่งแบบเส้นตรง ในปี ค.ศ. 1954 วิลเบอร์ ชแรมม์ (Wilber Schramm) และ ซี อี ออสกูด (C.E. Osgood) ได้ นำเสนอธรรมชาติของการสื่อสารที่เป็นรูปวงกลม

ภาพที่ 4: แบบจำลองการสื่อสารของออสกูดแอนด์ชแรมม์




 จากภาพที่ 4 จะเห็นว่าผู้มีส่วนร่วมในการสื่อสารสามารถสลับบทบาทระหว่างการเป็นแหล่งสาร (source)/ผู้เข้ารหัส (encoder) และผู้รับสาร (receiver)/ผู้ถอดรหัส (decoder) แบบจำลองนี้ จึงเป็นรูปแบบของการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication)

5. แบบจำลองการสื่อสารแบบสองจังหวะ

พอล ลาซาร์สเฟลด์ (Paul Lazarsfeld, 1949) และคณะ ได้ศึกษาการตัดสินใจของชาวอเมริกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดี จึงพบว่าการกระจายข่าวสารนั้นเกิดขึ้นเป็น 2 จังหวะ คือ จากสื่อมวลชนไปถึงผู้นำความคิดเห็นจังหวะหนึ่ง และจากผู้นำความคิดไปถึงประชาชนทั่วไปอีกจังหวะหนึ่ง ดังนั้นข่าวสารของสื่อมวลชนจึงมิได้เข้าถึงและมีอิทธิพลโดยตรงต่อผู้รับเสมอไป องค์ประกอบที่สำคัญ คือ อิทธิพลของบุคคล (Personal Influence) หรือความเป็นผู้นำความคิดเห็น (Opinion Leadership) จึงได้กลายเป็นทฤษฎีการสื่อสารสอง จังหวะ (Two-Step Flow Theory)

ภาพที่ 5 การสื่อสารแบบสองจังหวะ


การสื่อสารแบบสองจังหวะของลาซาร์สเฟลด์ สามารถนำมาอธิบายบทบาทของผู้นำท้องถิ่นในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี เราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ลูกบ้านหรือประชาชนในท้องที่ต่างๆสามารถรับข่าวสารจากสื่อมวลชนได้ตลอดเวลาผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน แต่ผลการตัดสินใจขั้นสุดท้ายมักขึ้นอยู่กับอิทธิพลของผู้นำทางความคิด ซึ่งเป็นผู้นำชุมชน หรือผู้นำท้องถิ่น

จากรูปแบบจำลองของการสื่อสารหลักๆทั้ง 5 แบบข้างต้นนี้ สามารถสรุปได้ว่า ในการสื่อสารนั้น การที่ผู้ส่งและผู้รับจะสามารถเข้าใจกันได้ดีเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับทักษะ ทัศนคติ ความรู้ และระบบสังคมและวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย ถ้าหากว่าทั้งผู้ส่งและผู้รับมีสิ่งต่าง ๆเหล่านี้สอดคล้องกัน มีประสบการณ์ร่วมกัน ก็จะทำให้การสื่อสารนั้นได้ผลดียิ่งขึ้น ต่างฝ่ายก็มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และสามารถขจัดอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งและผู้รับออกไปได้ และการสื่อสารสองทางนั้นเป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการสื่อสารยุคปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว ถูกต้อง และตรวจสอบได้ ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการบริหารงานขององค์กรที่ต้องการการตรวจสอบและการทำความเข้าใจระหว่างสมาชิกในสังคมด้วย นอกจากนั้นในส่วนของการปกครองระดับท้องถิ่น การสื่อสารแบบสองจังหวะยังคงมีอิทธิพลต่อความคิดและตัดสินใจของลูกบ้านในประเด็นการเมืองและประเด็นสาธารณะอยู่มาก

No comments:

Post a Comment