Tuesday, March 9, 2010

ที่มาและประเภทของรายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก


เมื่อกล่าวถึงที่มาของรายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก สามารถมองได้เป็น 2 ด้านผสมผสานกัน คือเชิงเทคโนโลยีและด้านเนื้อหารายการ ตามปกติในต่างประเทศนั้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกจะรับรายการโทรทัศน์มาจาก 2 แหล่งหลักๆโดยแลกกับค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้แหล่งรายการดังกล่าว ที่มานั้นได้แก่ 1) ช่องเคเบิล (cable channel/cable networks) เช่น HBO ESPN และ CNN และ 2) ช่องโทรทัศน์ท้องถิ่นหรือฟรีทีวีที่มีอยู่จำนวนหลายช่อง ได้แก่ ABC, CBS, Fox, NBC และสถานีในเครือโทรทัศน์สาธารณะ PBS ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บริการ

สำหรับช่องเคเบิล (cable channel) นั้นบางครั้งก็เรียกกันว่าเป็นช่องรายการเวียน (turnaround channel) โดยช่องเคเบิลจะมีสถานีแพร่ภาพ (distribution center) ที่ส่งสัญญาณรายการของตนขึ้นไปยังดาวเทียมที่มีวงโคจรประจำที่ (geosynchronous satellite) เพื่อส่งต่อให้ผู้ประกอบการที่มีจานขนาดใหญ่เพื่อรับสัญญาณทั้งแอนะล็อกและดิจิตัล สำหรับสถานีท้องถิ่นที่ออกอากาศรายการฟรีทีวีทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะไม่ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการเคเบิลทีวีต้องการถ่ายทอดรายการท้องถิ่นด้วยก็จะรับสัญญาณโดยใช้เสาอากาศภาคพื้นดินหรือผ่านเส้นใยแก้วนำแสง (optical fiber)

วิธีการรับสัญญาณของโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้

1) เคเบิลทีวีรับสัญญาณรายการจากดาวเทียม ฟรีทีวี หรือผู้ผลิตรายการ มาสู่สถานีต้นทาง (headend) แล้วส่งผ่านสายนำสัญญาณ คือสายโคแอ๊กซ์ หรือสายใยแก้วนำแสงไปยังจุดเชื่อม (node) เพื่อแยกไปยังบ้านผู้ชม ซึ่งผู้ชมต้องมีอุปกรณ์ในการรับสัญญาณภาพจึงจะรับชมรายการได้

ภาพที่ 1: การส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลไปยังบ้านสมาชิก

ที่มา: www.pixelperformance.com/proj1/accessnetworks.htm


2) เคเบิลทีวีไร้สาย (wireless cable) จะมีการรับสัญญาณรายการโทรทัศน์จากฟรีทีวีและเคเบิลทีวี แล้วเปลี่ยนสัญญาณเป็นคลื่นไมโครเวฟเพื่อส่งสัญญาณต่อ ดังนั้นความแตกต่างระหว่างเคเบิลทีวีในข้อ 1 กับเคเบิลไร้สายในข้อนี้ จึงอยู่ตรงที่ว่า การส่งสัญญาณไปยังบ้านผู้ชมนั้น แทนที่จะส่งผ่านสาย กลับเป็นการส่งผ่านคลื่นไมโครเวฟในระบบ MMDS (Multichannel Mulipoint Distribution System) จากเสาสัญญาณขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบนตึกสูงหรือบนภูเขา ไปยังบ้านเรือนหรือตึกที่มีจานรับสัญญาณไมโครเวฟ โดยผู้รับต้องมีอุปกรณ์แปลงสัญญาณไมโครเวฟเป็นสัญญาณโทรทัศน์อีกทีหนึ่ง จึงจะรับชมได้ เคเบิลไร้สายนี้มีความเหมาะสมที่จะให้บริการในพื้นที่ที่ไม่มีตึกสูงบังสัญญาณ ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีดิจิตัลและอุปกรณ์ที่ทันสมัยช่วยให้สัญญาณของ wireless cable มีคุณภาพและสามารถแก้ปัญหาด้านเทคนิคได้ง่าย

ภาพที่ 2 : เคเบิลทีวีไร้สาย (wireless cable) ส่งสัญญาณผ่านคลื่นไมโครเวฟ

ที่มา: http://www.lbagroup.com/

3. โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็ตาม สถานีโทรทัศน์ (broadcaster) จะส่งสัญญาณโทรทัศน์ uplink ขึ้นไปยังดาวเทียม ซึ่งมี “ทรานสพอนเดอร์” (transponder) ทำหน้าที่รับสัญญาณจากโลกและส่งสัญญาณกลับ (เรียกว่า downlink) ลงมายังบ้านผู้ชมสมาชิก (subscriber) ที่มีจานรับสัญญาณดาวเทียมอีกทีหนึ่ง (ดูภาพที่ 3)

ภาพที่ 3: ทีวีดาวเทียมส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมเพื่อส่งกลับมายังบ้านผู้ชมที่มีจานรับสัญญาณ


ที่มา: http://www.howstuffworks.com/

4. ไอพีทีวี (IPTV: Internet Protocol Television) ปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตช่วยเพิ่มช่องทางให้การส่งสัญญาณรายการโทรทัศน์สามารถทำได้มากขึ้น แต่แหล่งที่มาของรายการต่างๆบนไอพีทีวี ก็ยังคงเป็นรายการจากฟรีทีวีและโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกเป็นหลัก นอกจากนี้ก็จะเป็นรายการภาพยนตร์ตามสั่ง (movies on demand หรือ video on demand) ซึ่งผู้ชมก็ต้องเสียค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายในการรับชม

ภาพที่ 4: IPTV รับสัญญาณโทรทัศน์มาจากฟรีทีวีและโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก



ที่มา: http://www.althos.com/sample_diagrams/ag_IPvideo_system_low_res.jpg

การอธิบายถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกข้างต้นนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีการสื่อสารมีความเกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งรายการของโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก ช่วงทศวรรษที่ 1960s – 1970s (ค.ศ. 1960-1979) ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาใหญ่จากการแสวงหารายการโทรทัศน์เพื่อบรรจุลงในเวลาออกอากาศที่ว่างอยู่ (Eastman, 1993) จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1980s (ค.ศ. 1980-1989) รายการโทรทัศน์ต่างๆ มีจำนวนมากขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีดาวเทียม ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกแต่ละรายจะดึงสัญญาณโทรทัศน์จากช่องฟรีทีวี ช่องเคเบิล (cable networks เช่น HBO, CNN, ESPN, MTV) และช่องรายการที่ส่งผ่านดาวเทียมจำนวนมากมาส่งสัญญาณต่อ (retransmit) ส่วนรายการที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกผลิตเองนั้นมีจำนวนน้อย อาจเป็นรายการท้องถิ่นที่มีจำนวนเพียงหนึ่งหรือสองช่องเท่านั้น ในปี ค.ศ. 2004 ประเทศสหรัฐอเมริกามีช่องรายการเคเบิลระดับชาติจำนวน 339 ช่อง และระดับภูมิภาคจำนวน 84 ช่อง (National Cable and Telecommunication Association, 2004) และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ชมยังคงต้องการชมรายการต่างๆมากขึ้น ทำให้จำนวนสมาชิกเคเบิลทีวีมีจำนวนมากขึ้นทุกปีในขณะที่จำนวนผู้ชมฟรีทีวีมีจำนวนลดลง ค.ศ. 2008 จำนวนสถานีเคเบิลทีวี (cable system) ในสหรัฐอเมริกามีจำนวน 7,832 สถานี (NCTA, 2009) ดังนั้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกจะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับกับเครือข่ายโทรทัศน์ต่างๆเป็นจำนวนมากเพื่อใช้รายการเหล่านั้นเป็นสินค้าขายให้แก่ผู้ชม

ช่องเคเบิลหรือเครือข่ายเคเบิล (cable channel หรือ cable networks) หมายถึงช่องที่มีผู้จัดรายการโทรทัศน์ (programmers) ผลิตและจัดรายการเพื่อเผยแพร่ทางเคเบิลทีวีโดยเฉพาะ ตัวอย่างของช่องเคเบิลเหล่านี้ ได้แก่ HBO, CNN, ESPN, MTV, Lifetime เป็นต้น และวิธีการได้มา (acquisition) ซึ่งรายการของช่องเคเบิลเหล่านี้ สามารถทำได้หลายทาง ได้แก่

1. รายการต้นฉบับ (original programs) เช่น South Park และภาพยนตร์ต่างๆจากผู้ผลิตรายการภายนอก

2. รายการที่ผลิตเอง (เรียกว่า “in-house” program)

3. รายการที่ออกอากาศซ้ำ (off-network broadcast reruns เช่น The Cosby Show , E.R. )

ช่องเคเบิลส่วนใหญ่ใช้วิธีการผสมผสานระหว่างรายการที่ซื้อมา (acquisition) และรายการที่ผลิตเอง (self-production) และช่องเคเบิลเหล่านี้แต่ละช่องมักมีเอกลักษณ์ของช่อง คือส่วนมากจะเป็นรายการประเภทเดียวกันทั้งช่อง ช่องเคเบิลที่ได้รับความนิยมกันในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ช่องสารคดี ช่องกีฬา ช่องข่าว และช่องภาพยนตร์

ประเภทของรายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก

รายการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกสามารถแบ่งเป็นประเภท (categories) หลักๆ ได้ 13 ประเภท ดังนี้ (Eastman & Ferguson, 2002):

1. รายการพื้นฐาน เป็นรายการที่ผู้ชมเคเบิลทีวีแทบทุกคนจะต้องได้ชมเป็นประจำ เช่น USA Network, Discovery Channel, Animal Planet, Food Network, Weather Channel เป็นต้น

2. รายการเด็ก เช่น Cartoon Network, Disney Channel, PBS Kids, และ Disney Channel เป็นต้น

3. รายการต่างประเทศ เช่น BBC (Brtish Broadcasting Corporation), CCTV (China Central Television), ART (Arab radio & Television) และ TV Japan เป็นต้น

4. รายการแนวทางการใช้ชีวิต เช่น Outdoor Channel, Military Channel, DIY (Do-It-Yourself) และ gay Entertainment Television เป็นต้น

5. รายการภาพยนตร์ เช่น HBO (Home Box office), AMC (American Movie Classic), Cinemax และ Showtime เป็นต้น

6. รายการดนตรี (Music) เช่น MTV (Music television), World Jazz และ GAC (Great American Country) เป็นต้น

7. รายการข่าว (News) เช่น CNN (Cable News Network), C-SPAN (Cable Satellite Public Affair News), MSNBC และ Bloomberg Television เป็นต้น

8. รายการศาสนา เช่น Gospel, World network และ National Jewish Television เป็นต้น

9. รายการทางเพศ เช่น Playboy TV, Hot Choice และ Pleasure เป็นต้น

10. รายการซื้อขายสินค้า เช่น Home Shopping Spree, Shop at Home และ Video catalog Channel เป็นต้น

11. รายการภาษาสเปญ เช่น Cine Latino, Sun TV และ Telemundo เป็นต้น

12. รายการกีฬา เช่น CNN/Sport Illustrated (CNNSI), ESPN, Golf Channel และ Sunshine Network เป็นต้น

13. ซูเปอร์สเตชั่น (Superstation) หมายถึงสถานีโทรทัศน์อิสระที่มีการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไปยังเคเบิลทีวีท้องถิ่น เช่น KTLA, KWGN และ WGN เป็นต้น

จะเห็นว่าผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกสามารถเลือกประเภทรายการที่หลายหลาย ช่องเคเบิลส่วนใหญ่ขายรายการในลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของช่องอย่างเด่นชัด เช่น ข่าว ดนตรี กีฬา แต่ก็มีบางช่องที่ขายรายการแบบฟรีทีวี คือเป็นรายการรวมทั่วไปทั้งช่อง เช่น USA และ TNT ช่องเคเบิลพื้นฐานบางส่วนเรียกเก็บค่าสมาชิก (subscription fee) เพิ่มจากการมีโฆษณา (commercials) ซึ่งค่าสมาชิกนี้เป็นการเรียกเก็บโดยตรงจากบริษัทเคเบิลผู้ให้บริการ และบริษัทเคเบิลก็ไปเรียกเก็บจากผู้ชมอีกทอดหนึ่ง ค่าสมาชิกที่ช่องเคเบิลเรียกเก็บนี้จะมีราคาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่องพื้นฐาน (basic) หรือช่องพิเศษ (premium) และเป็นช่องที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากน้อยเพียงใด ในทางกลับกันผู้ให้บริการเคเบิลไม่ได้ถูกกฎหมายบังคับให้รับสัญญาณเคเบิลช่องใดช่องหนึ่ง ดังนั้นผู้ให้บริการอาจต่อรองในการรับหรือไม่รับสัญญาณจากช่องเคเบิลก็ได้ ช่องเคเบิลทั่วไปคิดราคา 50-60 เซ็นต์ต่อเดือนต่อรายหัวสมาชิก แต่ช่องที่ได้รับความนิยม เช่น ESPN เรียกเก็บถึง 2.90 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อรายหัวสมาชิก


ตารางที่ 1: ตัวอย่างค่าสมาชิก (subscription fee) ที่ช่องเคเบิลเรียกเก็บรายเดือนจากผู้ให้บริการต่อรายหัวผู้ชมในประเทศสหรัฐอเมริกา

ช่องรายการเคเบิล                                                      ค่าสมาชิก/ราย/เดือน
                           Cartoon network                                                         0.08 ดอลลาร์

                           MSNBC                                                                     0.15 ดอลลาร์

                           Nickelodeon                                                               0.33 ดอลลาร์

                           CNN                                                                          0.44 ดอลลาร์

                           USA                                                                           0.60 ดอลลาร์

                           FOX News                                                                 0.60 ดอลลาร์

                           Disney Channel                                                           0.80 ดอลลาร์

                           TNT                                                                           0.89 ดอลลาร์

                           ESPN                                                                         2.90 ดอลลาร์

ที่มา: wikipedia.org. เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2552

No comments:

Post a Comment